ไขความลับ HYA สารสกัดยอดฮิตที่ต้องมีในสกินแคร์

หากพูดถึงสารสกัดยอดนิยมในวงการสกินแคร์ HYA หรือ Hyaluronic Acid คงเป็นชื่อแรก ๆ ที่หลายคนคุ้นเคย เพราะขึ้นชื่อเรื่องการให้ความชุ่มชื้น และช่วยให้ผิวดูอิ่มน้ำอย่างเป็นธรรมชาติ แต่จริง ๆ แล้ว HYA มีหลายชนิด และแต่ละชนิดทำงานต่างกัน บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกว่าทำไม HYA ถึงเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ในสูตร ผลิตสกินแคร์ และต้องเลือกใช้อย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ทำความรู้จัก HYA คืออะไร

HYA (Hyaluronic Acid – กรดไฮยาลูโรนิก) เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะในผิวหนัง ข้อต่อ และเนื้อเยื่อ มีโครงสร้างทางเคมีเป็นไกลโคซามิโนไกลแคน (Glycosaminoglycan – GAGs) ซึ่งเป็นพอลิแซ็กคาไรด์ชนิดหนึ่งที่สามารถอุ้มน้ำได้ดีมาก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้ความชุ่มชื้น ช่วยให้ผิวคงความยืดหยุ่น และชะลอการเกิดริ้วรอย
ในร่างกายมนุษย์ HYA ถูกผลิตขึ้นเองโดยเซลล์ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblast) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สร้างคอลลาเจน และอิลาสติน อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณ HYA ตามธรรมชาติจะลดลง ส่งผลให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดริ้วรอย และความยืดหยุ่นของผิวลดลง

กลไกการทำงานของ HYA กับผิว

ในการผลิตสกินแคร์ HYA จะทำงานผ่านกลไกหลักหลายประการเพื่อช่วยบำรุง และฟื้นฟูผิว ได้แก่

  1. การกักเก็บความชุ่มชื้น
    HYA มีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้ถึง 1,000 เท่าของน้ำหนักตัวเอง ทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นอย่างล้ำลึก เมื่อ HYA ถูกนำมาใช้ในสกินแคร์ จะช่วยดึง และกักเก็บน้ำไว้ที่ชั้นผิว ลดการสูญเสียน้ำทางผิวหนัง ผิวจึงดูอิ่มน้ำ เนียนนุ่ม
  1. การเสริมสร้างเกราะป้องกันผิว
    ช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้าง Skin Barrier โดยไปเพิ่มปริมาณไขมันระหว่างเซลล์ผิว (Lipids) และโปรตีนที่จำเป็นในชั้นสตราตัมคอร์เนียม (Stratum Corneum) ทำให้ผิวสามารถป้องกันการสูญเสียน้ำ และปกป้องจากมลภาวะ และสารระคายเคืองภายนอกได้ดีขึ้น
  1. การกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และอิลาสติน
    HYA มีส่วนช่วยกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์ให้ผลิตคอลลาเจน และอิลาสติน ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญที่ช่วยให้ผิวยืดหยุ่นและกระชับ นอกจากนี้ยังช่วยลดเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจน (Matrix Metalloproteinases – MMPs) ทำให้ผิวดูเต่งตึง และลดเลือนริ้วรอยได้
  1. การลดการอักเสบ และซ่อมแซมผิว
    HYA มีคุณสมบัติลดกระบวนการอักเสบในผิว ลดรอยแดง ช่วยให้ผิวฟื้นตัวเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมกระบวนการสมานแผลโดยไปกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เคราติโนไซต์ (Keratinocytes) ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  1. การปรับสมดุลจุลินทรีย์ผิว
    HYA ช่วยรักษาสมดุลจุลินทรีย์ดีบนผิว (Skin Microbiome) โดยช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ทำให้ผิวแข็งแรงขึ้น ลดโอกาสการเกิดผิวแพ้ ระคายเคือง

ประเภทของ HYA ในสกินแคร์

ประเภท HYA

กรดไฮยาลูโรนิกที่เป็นส่วนผสมในการผลิตสกินแคร์นั้นไม่ได้มีเพียงชนิดเดียว โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามขนาดโมเลกุล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการซึมเข้าสู่ชั้นผิว และประสิทธิภาพของการทำงาน แบ่งได้ดังนี้

  1. High Molecular Weight Hyaluronic Acid (HMW-HA, > 1,000 kDa)
    เป็น HYA โมเลกุลขนาดใหญ่ ไม่สามารถซึมเข้าสู่ผิวชั้นลึกได้ แต่จะเคลือบอยู่บนผิวชั้นนอก ช่วยให้ความชุ่มชื้นทันที ลดการระเหยของน้ำจากผิว ลดการระคายเคืองพร้อมปลอบประโลมผิว และเพราะเนื่องจากไม่สามารถซึมเข้าสู่ชั้นผิวลึก ๆ ได้ จึงอาจไม่ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
  1. Low Molecular Weight Hyaluronic Acid (LMW-HA, 50 – 1,000 kDa)
    HYA ประเภทนี้มีขนาดเล็กกว่าประเภทแรก สามารถซึมเข้าสู่ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ได้ ให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้ลึกขึ้น ช่วยให้ผิวยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนบางส่วน ส่งผลให้ผิวดูเต่งตึง
  1. Oligo Hyaluronic Acid (< 50 kDa)
    HYA ที่มีขนาดโมเลกุลเล็กมาก สามารถซึมลึกลงไปถึงชั้นหนังแท้ (Dermis) ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และอิลาสติน ทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์ขึ้น มีคุณสมบัติช่วยซ่อมแซมเซลล์ผิวที่ถูกทำลาย อีกทั้งยังช่วยให้ผิวแข็งแรงขึ้น และลดการเกิดริ้วรอยในระยะยาว

จะเห็นได้ว่า นอกจากการให้ความชุ่มชื้นแล้ว HYA ในการผลิตสกินแคร์ยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบของผิว เสริมสร้างเกราะป้องกันผิว แต่ด้วยขนาดโมเลกุลของ HYA ที่ส่งผลต่อการดูดซึม และให้คุณสมบัติที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้ที่เหมาะสมสามารถช่วยให้ผิวดูอ่อนเยาว์ และแข็งแรงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
เจ้าของแบรนด์ที่สนใจทำแบรนด์ Skincare ทาง #COSMINA ยินดีให้คำปรึกษา ฟรี!!!
สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของ Cosmina ที่มีส่วนผสมของเซราไมด์ คลิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว