สาร Surfactant

การเลือกใช้สารทำความสะอาดถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสูตรดูแลผิว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสิว หรือผิวแพ้ง่าย ในกระบวนการผลิตโฟมล้างหน้า การเลือกสารที่อ่อนโยน และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยหนึ่งในกลุ่มสารที่มีบทบาทสำคัญคือ สาร Surfactant ซึ่งมีหลากหลายชนิด และแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน บทความนี้ Cosmina จะพาคุณไปรู้จัก 4 สาร Surfactant ที่เหมาะสำหรับผิวบอบบางโดยเฉพาะ พร้อมเหตุผลว่าทำไมควรเลือกใช้

สาร Surfactant คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง

Surfactant (สารลดแรงตึงผิว) คือส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น โฟมล้างหน้า คลีนเซอร์ และแชมพู มีหน้าที่หลักในการช่วยให้ น้ำ และน้ำมันสามารถผสมกันได้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการชะล้างสิ่งสกปรก ความมัน และคราบต่าง ๆ ออกจากผิวหนัง โดยสาร Surfactant มีโครงสร้างโมเลกุลแบบ “สองขั้ว” (Amphiphilic Molecule) คือ ส่วนที่ชอบน้ำ (Hydrophilic head) และ ส่วนที่ชอบน้ำมัน (Lipophilic tail) เมื่อนำมาใช้ในการผลิตโฟมล้างหน้า สาร Surfactant จะมีกระบวนการทำงานในการชะล้างสิ่งสกปรก คือ

  • ลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้น้ำกระจายตัวได้ดีขึ้น และแทรกซึมเข้าไปตามผิวหน้า
  • จับกับไขมัน และสิ่งสกปรก ผ่านด้าน Lipophilic แล้วรวมตัวกันเป็น Micelle
  • ขจัดสิ่งสกปรกออกจากผิว เมื่อมีการล้างออกด้วยน้ำ

สิ่งสำคัญคือ การเลือกชนิดของ Surfactant ที่ไม่ทำลายเกราะป้องกันผิว (Skin Barrier) เพราะ Surfactant ที่รุนแรงเกินไปอาจทำให้ผิวแห้ง ตึง หรือเกิดการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือเป็นสิว

ประเภทของสาร Surfactant

Surfactants สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักตามลักษณะประจุที่ปรากฏเมื่ออยู่ในน้ำ ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนี้

  1. Anionic Surfactant : ให้ฟองเยอะ ทำความสะอาดได้ดี ราคาถูก เป็นกลุ่มที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป แต่อาจทำให้ผิวแห้งตึง และมีแนวโน้มกระตุ้นการระคายเคืองง่าย
  2. Cationic Surfactant : ให้คุณสมบัติเป็น Antimicrobial และ Conditioner มักพบในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ไม่เหมาะกับการใช้ในผลิตภัณฑ์ล้างหน้าโดยตรง เนื่องจากอาจเกิดการจับตัวกับสารประจุลบ และทำให้สูตรไม่เสถียร
  3. Non-ionic Surfactant : มีความอ่อนโยนสูง ไม่เกิดประจุไฟฟ้ากับผิว หรือสิ่งแวดล้อมในสูตร ความเสถียรดีในช่วง pH กว้าง เหมาะกับผิวแพ้ง่าย หรือผลิตภัณฑ์เด็ก แต่ต้นทุนอาจสูงกว่าบางประเภท
  4. Amphoteric Surfactant : ปรับตัวตาม pH ของผลิตภัณฑ์ ให้ความอ่อนโยนสูง ช่วยลดการระคายเคืองจากสารชนิดอื่น นิยมใช้ร่วมกับสารประเภทอื่นเพื่อเพิ่มความอ่อนโยนของสูตร แต่ต้องควบคุม pH อย่างเหมาะสมเพื่อให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

แนะนำ 4 สาร Surfactant

แนะนำ สาร Surfactant

การเลือกสาร Surfactant ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตโฟมล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อ และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทุกสภาพผิว โดยมีสารแนะนำดังนี้

  1. Cocamidopropyl Betaine
    เป็นสารประเภท Amphoteric Surfactant (มีทั้งประจุบวก และลบในโมเลกุลเดียวกัน) ได้มาจากการสังเคราะห์จากกรดไขมันในน้ำมันมะพร้าว และสารประกอบ Dimethylaminopropylamine ช่วยให้สูตรเกิดฟองได้ดีขึ้น ให้ฟองละเอียดนุ่ม มีความอ่อนโยน เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย และเด็ก แต่ควรระวังสารตกค้างในกระบวนการผลิต เช่น Nitrosamines หากไม่ได้ควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด
  1. Sodium Cocoyl Isethionate (SCI)
    สารนี้อยู่ในประเภท Anionic Surfactant มีความอ่อนโยนสูงกว่ากลุ่ม SLS/SLES ได้จากกรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวหรือปาล์มรวมกับ Isethionic Acid ทำความสะอาดได้ดีโดยไม่ทำลายเกราะป้องกันผิว ให้ฟองหนานุ่มคล้ายครีม เหมาะกับการผลิตโฟมล้างหน้าที่เน้นความรู้สึกพรีเมียม แต่ราคาอาจสูงกว่าสารทำความสะอาดทั่วไป
  1. Sodium Cocoyl Glutamate / Disodium Cocoyl Glutamate
    เป็นสารประเภท Anionic Surfactant เช่นเดียวกัน สังเคราะห์จากกรดไขมัน (เช่น น้ำมันมะพร้าว) และกรดกลูตามิก (กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) มีความอ่อนโยนสูงในกลุ่ม Anionic คงความชุ่มชื้นผิว ไม่ทำให้แห้งตึง มี pH ใกล้เคียงผิว แต่การเกิดฟองน้อยกว่าสารกลุ่มอื่น อาจต้องเสริม Cocamidopropyl Betaine เพื่อเพิ่มฟอง
  1. Decyl Glucoside / Lauryl Glucoside
    อยู่ในประเภท Non-ionic Surfactant สังเคราะห์จากน้ำตาลกลูโคส และแอลกอฮอล์ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าวหรือปาล์ม ไม่มีประจุไฟฟ้า จึงอ่อนโยนต่อผิว และดวงตา มีความเสถียรสูง ไม่รบกวนสมดุลของจุลินทรีย์ผิว ปลอดภัยแม้ใช้กับผิวเด็ก หรือผิวอักเสบ แต่อาจต้องใช้ร่วมกับสารอื่นเพื่อเสริมแรงทำความสะอาด

หากคุณกำลังวางแผนผลิตโฟมล้างหน้าที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความอ่อนโยน และประสิทธิภาพในการทำความสะอาดผิว การเลือกสาร Surfactant ที่ดีจึงไม่ใช่แค่เรื่องของสูตร แต่คือการเข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริงในยุคที่ผู้บริโภคใส่ใจส่วนผสมมากขึ้น คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ “ใส่ใจตั้งแต่พื้นฐาน” หรือยังมองข้ามจุดเล็ก ๆ ที่อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์
หากท่านใดที่กำลังวางแผนทำแบรนด์เครื่องสำอางเป็นของตัวเอง สามารถมาปรึกษา #COSMINA ยินดีให้คำปรึกษา ฟรี!!! เพราะเราเป็นโรงงานรับผลิตเครื่องสำอางที่มีมาตรฐาน พร้อมกับมีประสบการณ์มากกว่า 46 ปี ดังนั้นมั่นใจได้ว่าท่านจะได้พบเจอกับคุณภาพ และบริการที่ประทับใจหากได้มาปรึกษากับเรา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว