การเลือกใช้สารทำความสะอาดถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาสูตรดูแลผิว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสิว หรือผิวแพ้ง่าย ในกระบวนการผลิตโฟมล้างหน้า การเลือกสารที่อ่อนโยน และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยหนึ่งในกลุ่มสารที่มีบทบาทสำคัญคือ สาร Surfactant ซึ่งมีหลากหลายชนิด และแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน บทความนี้ Cosmina จะพาคุณไปรู้จัก 4 สาร Surfactant ที่เหมาะสำหรับผิวบอบบางโดยเฉพาะ พร้อมเหตุผลว่าทำไมควรเลือกใช้
สาร Surfactant คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง
Surfactant (สารลดแรงตึงผิว) คือส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น โฟมล้างหน้า คลีนเซอร์ และแชมพู มีหน้าที่หลักในการช่วยให้ น้ำ และน้ำมันสามารถผสมกันได้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการชะล้างสิ่งสกปรก ความมัน และคราบต่าง ๆ ออกจากผิวหนัง โดยสาร Surfactant มีโครงสร้างโมเลกุลแบบ “สองขั้ว” (Amphiphilic Molecule) คือ ส่วนที่ชอบน้ำ (Hydrophilic head) และ ส่วนที่ชอบน้ำมัน (Lipophilic tail) เมื่อนำมาใช้ในการผลิตโฟมล้างหน้า สาร Surfactant จะมีกระบวนการทำงานในการชะล้างสิ่งสกปรก คือ
- ลดแรงตึงผิวของน้ำ ทำให้น้ำกระจายตัวได้ดีขึ้น และแทรกซึมเข้าไปตามผิวหน้า
- จับกับไขมัน และสิ่งสกปรก ผ่านด้าน Lipophilic แล้วรวมตัวกันเป็น Micelle
- ขจัดสิ่งสกปรกออกจากผิว เมื่อมีการล้างออกด้วยน้ำ
สิ่งสำคัญคือ การเลือกชนิดของ Surfactant ที่ไม่ทำลายเกราะป้องกันผิว (Skin Barrier) เพราะ Surfactant ที่รุนแรงเกินไปอาจทำให้ผิวแห้ง ตึง หรือเกิดการระคายเคืองได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือเป็นสิว
ประเภทของสาร Surfactant
Surfactants สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักตามลักษณะประจุที่ปรากฏเมื่ออยู่ในน้ำ ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนี้
- Anionic Surfactant : ให้ฟองเยอะ ทำความสะอาดได้ดี ราคาถูก เป็นกลุ่มที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป แต่อาจทำให้ผิวแห้งตึง และมีแนวโน้มกระตุ้นการระคายเคืองง่าย
- Cationic Surfactant : ให้คุณสมบัติเป็น Antimicrobial และ Conditioner มักพบในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ไม่เหมาะกับการใช้ในผลิตภัณฑ์ล้างหน้าโดยตรง เนื่องจากอาจเกิดการจับตัวกับสารประจุลบ และทำให้สูตรไม่เสถียร
- Non-ionic Surfactant : มีความอ่อนโยนสูง ไม่เกิดประจุไฟฟ้ากับผิว หรือสิ่งแวดล้อมในสูตร ความเสถียรดีในช่วง pH กว้าง เหมาะกับผิวแพ้ง่าย หรือผลิตภัณฑ์เด็ก แต่ต้นทุนอาจสูงกว่าบางประเภท
- Amphoteric Surfactant : ปรับตัวตาม pH ของผลิตภัณฑ์ ให้ความอ่อนโยนสูง ช่วยลดการระคายเคืองจากสารชนิดอื่น นิยมใช้ร่วมกับสารประเภทอื่นเพื่อเพิ่มความอ่อนโยนของสูตร แต่ต้องควบคุม pH อย่างเหมาะสมเพื่อให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
แนะนำ 4 สาร Surfactant
การเลือกสาร Surfactant ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตโฟมล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อ และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทุกสภาพผิว โดยมีสารแนะนำดังนี้
- Cocamidopropyl Betaine
เป็นสารประเภท Amphoteric Surfactant (มีทั้งประจุบวก และลบในโมเลกุลเดียวกัน) ได้มาจากการสังเคราะห์จากกรดไขมันในน้ำมันมะพร้าว และสารประกอบ Dimethylaminopropylamine ช่วยให้สูตรเกิดฟองได้ดีขึ้น ให้ฟองละเอียดนุ่ม มีความอ่อนโยน เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย และเด็ก แต่ควรระวังสารตกค้างในกระบวนการผลิต เช่น Nitrosamines หากไม่ได้ควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด
- Sodium Cocoyl Isethionate (SCI)
สารนี้อยู่ในประเภท Anionic Surfactant มีความอ่อนโยนสูงกว่ากลุ่ม SLS/SLES ได้จากกรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวหรือปาล์มรวมกับ Isethionic Acid ทำความสะอาดได้ดีโดยไม่ทำลายเกราะป้องกันผิว ให้ฟองหนานุ่มคล้ายครีม เหมาะกับการผลิตโฟมล้างหน้าที่เน้นความรู้สึกพรีเมียม แต่ราคาอาจสูงกว่าสารทำความสะอาดทั่วไป
- Sodium Cocoyl Glutamate / Disodium Cocoyl Glutamate
เป็นสารประเภท Anionic Surfactant เช่นเดียวกัน สังเคราะห์จากกรดไขมัน (เช่น น้ำมันมะพร้าว) และกรดกลูตามิก (กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) มีความอ่อนโยนสูงในกลุ่ม Anionic คงความชุ่มชื้นผิว ไม่ทำให้แห้งตึง มี pH ใกล้เคียงผิว แต่การเกิดฟองน้อยกว่าสารกลุ่มอื่น อาจต้องเสริม Cocamidopropyl Betaine เพื่อเพิ่มฟอง
- Decyl Glucoside / Lauryl Glucoside
อยู่ในประเภท Non-ionic Surfactant สังเคราะห์จากน้ำตาลกลูโคส และแอลกอฮอล์ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าวหรือปาล์ม ไม่มีประจุไฟฟ้า จึงอ่อนโยนต่อผิว และดวงตา มีความเสถียรสูง ไม่รบกวนสมดุลของจุลินทรีย์ผิว ปลอดภัยแม้ใช้กับผิวเด็ก หรือผิวอักเสบ แต่อาจต้องใช้ร่วมกับสารอื่นเพื่อเสริมแรงทำความสะอาด
หากคุณกำลังวางแผนผลิตโฟมล้างหน้าที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความอ่อนโยน และประสิทธิภาพในการทำความสะอาดผิว การเลือกสาร Surfactant ที่ดีจึงไม่ใช่แค่เรื่องของสูตร แต่คือการเข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริงในยุคที่ผู้บริโภคใส่ใจส่วนผสมมากขึ้น คุณพร้อมแล้วหรือยังที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ “ใส่ใจตั้งแต่พื้นฐาน” หรือยังมองข้ามจุดเล็ก ๆ ที่อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของแบรนด์
หากท่านใดที่กำลังวางแผนทำแบรนด์เครื่องสำอางเป็นของตัวเอง สามารถมาปรึกษา #COSMINA ยินดีให้คำปรึกษา ฟรี!!! เพราะเราเป็นโรงงานรับผลิตเครื่องสำอางที่มีมาตรฐาน พร้อมกับมีประสบการณ์มากกว่า 46 ปี ดังนั้นมั่นใจได้ว่าท่านจะได้พบเจอกับคุณภาพ และบริการที่ประทับใจหากได้มาปรึกษากับเรา